เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (หน.ผตร.วท.)ได้ตรวจราชการแบบบูรณาการฯ รอบที่ 1 โครงการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ภาค ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ 2) โครงการส่งเสริมเกษตรกรให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ และ 3) โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกโดยมี นายฉัตรชัย รัตนลาภ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายประสานงานกิจการพิเศษ นายศักดิ์ชัย วัฒนศรีรังกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมนางสาวนิภา ประดิษฐ์เทียมผล หัวหน้างานฝ่ายนโยบาย แผนงาน และงบประมาณ และคณะ รายงานผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จากการตรวจติดตามโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์พบว่า โครงการฯ มีพื้นที่ดำเนินการ 6 จังหวัด คือ จ.ร้อยเอ็ด จ.บุรีรัมย์ จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ และ จ.มหาสารคาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างความสามารถของชุมชนด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตข้าวหอมมะลิอย่างครบวงจร สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนจากอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีร่วมกับวิถีชีวิตของชุมชนด้วย โดยมีการดำเนินการในไตรมาสแรก ได้แก่ การจัดประชุมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์พื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.บุรีรัมย์ การจัดอบรมผู้ตรวจสอบภายในองค์กร (Inspector) เพื่อการจัดทำระบบควบคุมภายในมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับกลุ่ม และระดับเครือข่าย การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (ข้าวต้านทานโรคใบไหม้ : กข 6) รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างอาชีพเสริม เช่น การเลี้ยงปูนาระบบปิด การเลี้ยงปลานิลในแปลงนา การเลี้ยงปลาไหลในระบบปิดซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
ต่อมา หน.ผตร.วท.ได้ตรวจติดตามโครงการในพื้นที่ภาคใต้ คือโครงการส่งเสริมเกษตรกรให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตและบริหารจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบพบว่า โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับเกษตรกรและผู้ประกอบการในการยกระดับผลผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปให้ได้มาตรฐานสู่ระดับสากล รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการ 20 ชุมชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งในไตรมาสแรกได้ดำเนินการแล้วใน ๙ ชุมชน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงเรือนสำหรับการเพาะปลูกและการบริหารจัดการแบบครบวงจร จัดตั้งฐานการเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการเลี้ยงหนอนแม่โจ้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหารโคเนื้อ (อาหารผสมครบส่วน : TMR) ตามช่วงอายุโดยใช้วัสดุท้องถิ่น การจัดทำ Smart Farm และการเลี้ยงสัตว์น้ำ การสร้างเศรษฐกิจชุมชน Biobank เช่น การอบรมมาตรฐาน GMP แปรรูปผลิตภัณฑ์ การใช้เทคโนโลยีโรงเรือนผลิตพืชสมุนไพรมูลค่าสูง การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงผึ้งและชันโรง ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการมีความพึงพอใจในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ การดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผนที่กำหนด
หลังจากนั้น หน.ผตร.วท. ได้ตรวจติดตามโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออก คือโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 โครงการฯ ได้ดำเนินการสำรวจและวางแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 8 เทคโนโลยี ให้กับชุมชนแล้ว 11 ชุมชน ในพื้นที่ จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ในส่วนของความก้าวหน้าของการก่อสร้างกลุ่มอาคารเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก Phase 1A ขณะนี้ได้บริษัทผู้รับเหมาและบริษัทควบคุมงานก่อสร้างกลุ่มอาคารฯ แล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม 2562 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 24 เดือนความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมนวัตกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (Biopolis) ในกิจกรรมการพัฒนาระบบ Phenomic ได้ TOR การพัฒนาระบบโรงเรือนปฏิบัติการ และสาธิตนำร่องทางด้าน Plant Phenomic เพื่อการหาสภาพแวดล้อมที่ เหมาะสมในการผลิตพืช และกิจกรรมการจัดหา Genotyping สายพันธุ์ทุเรียน มีการปรับเพิ่มแผนการดำเนินงานวิจัยด้านการศึกษาลักษณะ Phenotype และลักษณะคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อให้ข้อเสนอโครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้นตลอดจนมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การบูรณาการการบริหารจัดการเขตนวัตกรรมของประเทศ และจัดนิทรรศการในประเทศและต่างประเทศร่วมกับ BOI, CoCs, FTI ซึ่งในภาพรวมการดำเนินงานโครงการและการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป