เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 (Memorandum of Understanding on the Cooperation on Projects of the Mekong-Lancang Cooperation Special Fund 2022) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีตนเป็นผู้แทนฝ่ายไทย และ H.E. Mr. Han Zhiqiang เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย เป็นผู้แทนฝ่ายจีน ร่วมลงนาม เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมถึงการบริหารจัดการโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างสูงสุด
ปลัด อว. กล่าวต่อไปว่ากองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนให้แก่ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ในการดำเนินโครงการขนาดเล็กและขนาดกลางที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ถึงปัจจุบัน โครงการของ อว. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง รวมจำนวนทั้งสิ้น 34 โครงการ โดยในปี 2566 โครงการของ อว. ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนฯ มีจำนวน 13 โครงการ จากหน่วยงานดำเนินโครงการ 6 แห่ง ประกอบด้วย
1) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 4 โครงการ
2) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จำนวน 1 โครงการ
3) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 3 โครงการ
4) มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 1 โครงการ
5) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน 3 โครงการ
6) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จำนวน 1 โครงการ
“โครงการเหล่านี้นับเป็นผลงานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกับประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยมีบทบาทเป็นประธานกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน วาระปี พ.ศ. 2565-2566” นายเพิ่มสุขกล่าว
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป