การตรวจราชการแบบบูรณาการ
การดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้าวเชิงพื้นที่
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) รอบที่ 2
ของผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นางแน่งน้อย เวทยพงษ์)
ระหว่างวันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม และบุรีรัมย์
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการแบบบูรณาการรอบที่ 2 โครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้าวเชิงพื้นที่ ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ณ จังหวัดร้อยเอ็ด ในการนี้ นายชยันต์ ศิริมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และนางลักษมี รุจิระมานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ให้การต้อนรับและร่วมหารือข้อราชการ ณ ห้องรับรอง 3 ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด ซึ่งรองผู้ว่าฯ ได้กล่าวขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดย สทอภ. ที่ดำเนินโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้าวเชิงพื้นที่ในจังหวัดร้อยเอ็ด และขอให้ วท. นำกรอบการดำเนินงานในด้านต่างๆ มาสนับสนุนจังหวัดต่อไปโดยเฉพาะการนำ วทน. มาเพิ่มมูลค่าข้าว เช่น การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ กระบวนการทำให้ข้าวมีกลิ่นหอม เป็นต้น
หลังจากนั้น คณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามโครงการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการข้าวเชิงพื้นที่ และตรวจเยี่ยมเครือข่ายเกษตรยั่งยืนบ้านสำราญ ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด โดยรับฟังการดำเนินงานจากนายธนากร สงวนตระกูล นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สทอภ. และรับฟังการดำเนินงานของเครือข่ายฯ โดยมีนายสว่าง สุขแสง เป็นประธานเครือข่ายฯ ประกอบด้วยกลุ่มปศุสัตว์อินทรีย์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มแปรรูปผลผลิต ตลาดสีเขียว ศูนย์เรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ และโฮมสเตย์ ซึ่งกลุ่มมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะประธานกลุ่มมีความเป็นผู้นำสูง ทำให้ได้รับความร่วมมือจากสมาชิก มีความสามัคคี มีระเบียบวินัย รักษากติกาของกลุ่มเป็นอย่างดี
จากการเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มพบว่าผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มที่ทำการผลิต ข้าวหอมมะลิชั้นหนึ่ง และทำผลิตภัณฑ์ข้าวมาส์กหน้าและเซรั่มข้าวหอมมะลิ ซึ่งได้รับการวิจัยและทดสอบคุณภาพจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ขณะนี้ได้ทำการทดสอบตลาดเบื้องต้น พบว่าเป็นที่ต้องการของตลาดและมีการส่งไปขายยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว โดยกลุ่มยังไม่มีสถานที่ผลิต ที่จะขยายปริมาณการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ในขณะที่พื้นที่ของกลุ่มเดิมเคยอยู่ในพื้นที่ GI แต่ปัจจุบันจากการทำข้อมูลใหม่พื้นที่ชุมชนไม่ได้อยู่ในพื้นที่ GI ซึ่ง ผตร.วท. จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและให้การสนับสนุนการดำเนินงานต่อไป
ต่อมาวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 คณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเก่าน้อย (อินทรีย์) ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โดยรับฟังการดำเนินงานจากนายบุญทอม บุญยรัตน์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านเก่าน้อย ซึ่งกลุ่มฯ ประกอบด้วย การทำนาปลอดสารเคมี การทำปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงโคเนื้อ การปลูกพืชผักสวนครัวไม้ผลยืนต้น จากการดำเนินการผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับมาตรฐานต่างๆ เช่น GAP (ตั้งแต่ปี 2552) Organic Thailand (ตั้งแต่ปี 2555) โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานเกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ พาณิชย์จังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนตำบล แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มพบปัญหาในเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง และมีความต้องการรถขนส่งสินค้าหรือผลผลิต ตาชั่งขนาดใหญ่ เครื่องอบข้าว เป็นต้น
จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มเครือข่ายเกษตรยั่งยืนบ้านสำราญ ต.หนองแคน อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเก่าน้อย (อินทรีย์) ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม พบว่า ผู้นำทั้ง 2 กลุ่ม มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและเข้าใจหลักการพัฒนาตามกรอบไทยแลนด์ 4.0 ที่จะใช้ฐานข้อมูลเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ และพัฒนาชุมชนและกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง มีใจพัฒนาร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเป็นชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการข้อมูลในอนาคตที่ประสบความสำเร็จ ซึ่ง วท. โดย สทอภ. จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้การจัดทำข้อมูลการพัฒนาชุมชนโดยใช้ฐานข้อมูลเป็นตัวตั้งประสบความสำร็จ จนนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับชุมชนและพัฒนาไปสู่ชุมชน 4.0
โดยพร้อมนี้ ผตร.วท. ได้ขอให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูล การบริหารฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอด และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในมิติการพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการข้าว ผลิตภัณฑ์ และชุมชน ให้เกิดความยั่งยืนเพื่อให้บรรลุผลตามนโยบาย Thailand 4.0 ได้ในที่สุด
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป