ปอว. เสวนา “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” แลกเปลี่ยนความคิดเชิงสร้างสรรค์ในเวที “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ณ ชั้น 5 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) เสวนาในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ร่วมกับ คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับชมการเสวนา ทั้งในรูปแบบ online และ offline
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) กล่าวเกี่ยวกับ BCG ECONOMY MODEL ว่า BCG มีองค์ประกอบสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นอยู่หลายอย่างด้วยกัน
อย่างแรก คือ BCG เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะทำ พวกเราทุกคนอยากจะมีอากาศที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีน้ำสะอาด มีอาหารที่ดี รวมทั้งสุขภาพที่ดี เพราะฉะนั้น BCG เป็นความประสงค์ของทุกคน ขณะนี้เราเริ่มเปิดประเทศหลังจากประสบกับปัญหาโควิด-19 สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมาถูกเวลาและถูกจังหวะ สิ่งนี้เป็นความประสงค์ของทั้งโลก
อย่างที่สอง คือ เมื่อเราทำในประเด็น BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาตินั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องและดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่ทำจะเกิดผลเสียเยอะ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม การกีดกันทางการค้า กลไกในการป้องกันอะไรต่าง ๆ มลพิษและของเสีย ระบบการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การลงโทษหรือการปรับ เพราะฉะนั้น เรื่อง BCG เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นเครื่องจักรหลักและสมัยใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันไปสู่อนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า BCG ประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
- B (Bio Economy) คือ เศรษฐกิจชีวภาพอันรวมไปถึงการแพทย์ สาธารณสุข เกษตร สิ่งแวดล้อม
- C (Circular Economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่
- G (Green Economy) ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยสรุป ก็คือ กระบวนการที่ทำให้เกิดความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น BCG เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดกับประเทศไทย เป็นการขยายฐานจากสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นไป อาทิ ประเทศไทย มีความเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรมไทย และที่สำคัญด้านวิชาการและองค์ความรู้ ก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยด้านสุขภาพและการแพทย์เราเป็นอันดับที่ 14 ของเอเชียเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยหลาย 100 แห่งจากทั่วโลก เปรียบได้ว่า BCG เป็นหัวรถจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย
ที่มา : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3782
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313