โครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility)
1.หลักการและเหตุผล
ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
พ.ศ.2560-2564 ยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจ
และความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
การวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรม ตลอดจนการดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกเข้ามาร่วมทํางานและส่งเสริมผู้มีความสามารถสูงในการสนับสนุนธุรกิจชั้นนํา
ในประเทศที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เรื่อง นโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility)
โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนัวตกรรม (สป.อว.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา
มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรู้และความสามารถในสังกัดที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
ให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยการเคลื่อนย้ายบุคลากรไปช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรม
อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และในทางกลับกัน จะเป็นหน่วยงานที่ประสานการนำบุคลากรวิจัยในภาคอุตสาหกรรม
ที่มีความรู้และความสามารถ เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถให้กับนักศึกษาอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับแนวทางการดำเนินการ สป.อว. จะสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ผ่านกลไกการสนับสนุนทุน
สำหรับการทำวิจัยที่ตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการในการแก้ไขปัญหา การพัฒนากระบวนการผลิต การพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการสนับสนุนศูนย์บริหารจัดการและหน่วยประสานงาน Talent Mobility ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญ
ในการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนดึงดูดบุคลากรวิจัยในภาคอุตสาหกรรมที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอน
การจัดอบรมและพัฒนาบุคลากร โดยจะเน้นในเรื่องของการพัฒนากำลังคน ทั้งในส่วนของบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา และบุคลากรวิจัยในภาคอุตสาหกรรม
เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่สามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและประเทศได้
โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ จะก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถแก้ไขปัญหา
และพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประเทศไทยจะเกิดศูนย์บริหารจัดการและหน่วยประสานงาน Talent Mobility
ที่กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ให้เป็นกลไกในการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิจัย ระหว่างบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรวิจัยในภาคอุตสาหกรรม
เป็นศูนย์รวมของข้อมูล องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ
เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป
2. วัตถุประสงค์
1) เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ผ่านกลไกการสนับสนุนทุนวิจัย
เพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม
2) เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาและศักยภาพของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหา
และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรม
3) เพื่อส่งเสริมศักยภาพของศูนย์อำนวยความสะดวก (TM Clearing House) ในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้การดำเนินการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. เป้าหมายโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ
1) มีจำนวนบุคลากรที่เคลื่อนย้ายไปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของบุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา
และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ มากกว่า 250 คน ต่อปี ซึ่งการออกไปปฏิบัติงานจะช่วยให้สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
ได้รับประโยชน์จากบุคลากรที่เคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงาน ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม
ในทางกลับกัน บุคลากรวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา สามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปปฏิบัติงานจริง มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน
การปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้บัณฑิตที่จะเข้ามาในระบบการศึกษามีความรู้และทักษะที่ตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
2) เกิดศูนย์อำนวยความสะดวก (TM Clearing House) ในสถาบันอุดมศึกษา อย่างน้อย 2๐ แห่ง ที่มีศักยภาพในการการสำรวจโจทย์ความต้องการ
และจับคู่ความต้องการ (matching) ระหว่างนักวิจัยกับสถานประกอบการ ให้คำปรึกษา แนะนำ พัฒนาข้อเสนอโครงการ และการเจรจาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์
และทรัพย์สินทางปัญญาในเบื้องต้นให้แก่นักวิจัยและผู้ประกอบการ ตลอดจนประสานงานระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ แหล่งทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ติดตามผลการปฏิบัติงานของนักวิจัยและผลการดำเนินการโครงการ จัดทำกรณีศึกษา และถอดบทเรียนการดำเนินการของโครงการที่ผ่านการคัดเลือก
และการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรรวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถาบันอุดมศึกษา
ภายใต้การดำเนินกิจกรรม Talent Mobility