สป.อว. ขับเคลื่อน "โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น"กำกับติดตามการผลิตและพัฒนาครูดี ศักยภาพสูง มีความรู้ทางวิชาการ เชี่ยวชาญวิชาชีพ ต่อยอดพัฒนาบ้านเกิด เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม พัฒนาขีดความสามารถของประเทศ หนุนนำการวิจัยประเมินโครงการเชื่อมโยงสู่แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ต้นแบบ/ตัวอย่างของสถาบันผลิตครู คาดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการในระยะต่อไป
เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ร่วมกับสถาบันผลิตครูในโครงการจัดการประชุมสัมมนาเพื่อกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและเน้นย้ำให้สถาบันฝ่ายผลิตทุกแห่งบริหารจัดการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งทบทวนผลการดำเนินงานภาพรวมของโครงการในระยะเวลาที่ผ่านมาและนำเสนอความก้าวหน้าการประเมินผลโครงกร โดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น นักวิจัย ผู้แทนนิสิตนักศึกษาครูในโครงการ ผู้แทนครูที่บรรจุในโครงการ ผู้แทนหน่วยงานผู้ใช้ครู จาก สพฐ. สอศ. กศน. และ กทม. เข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน
รองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว. ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นตามนโยบายของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ อว. เป็นหน่วยงานที่พัฒนาประเทศ โดยใช้ความรู้และพลังปัญญา และตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องดำเนินการไปให้สอดคล้องกับแนวโน้มหลักของโลก (Global Megatrend) ทำให้การเรียนรู้ทำได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ในเวลาและสถานที่ใดก็ได้ตามขีดความสามารถของผู้เรียน ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในบทเรียน ในห้องเรียน หรือเฉพาะในวัยเรียนเท่านั้น ครูจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียนให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมผสานแนวคิดที่ว่าความสามารถของผู้เรียนทุกคนเจริญงอกงามหรือเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ด้วยความฝ้าฟันและเพียรพยายาม เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว (Growth Mindset) ดังนั้น ระบบการผลิตและพัฒนาครู จึงต้องคัดสรรผู้มีความสามารถสูงเข้ามาเป็นครูรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะของครูอย่างต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนการสอนหนังสือให้ความรู้จาก "พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์" เป็น "ผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้" (Learning Facilitator)
ศาสตราจารย์องอาจ นัยพัฒน์ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า หลักการโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น คือ ผลิตครูดี ครูเก่งมีศักยภาพทางวิชาการและเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการครูที่มีคุณภาพเข้าไปปฏิบัติงานในสถานศึกษาในภูมิลำเนาของตน มีความเข้าใจในบริบททางการศึกษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นนำไปสู่การขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศจึงมีความคาดหวังว่ารัฐบาลเห็นความสำคัญของโครงการนี้และได้รับการสนับสนุนให้สามารถขยายการดำเนินโครงการในระยะต่อไป
นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน กล่าวว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ดำเนินการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการแล้วรวม 8 รุ่น จำนวนทั้งสิ้น 25,765 คน และบรรจุเข้ารับราชการแล้ว 6 รุ่น ตั้งแต่ปี 2559-2564 จำนวน 17,459 คน และอยู่ระหว่างการศึกษา จำนวน 2 รุ่น จำนวน 4,878 คน ซึ่งจะทยอยบรรจุเข้ารับราชการในปี 2565-2566
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมลวรรณ วีระธรรมโม หัวหน้าโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น กล่าวว่า จากการวิจัยติดตามและประเมินผลโครงการ โดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ พบว่า โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะครูและสถานศึกษาส่งผลต่อครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาผู้เรียนอย่างชัดเจน ต้องการพัฒนาท้องถิ่นมีสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม การเป็นผู้นำทางวิชาการ มีจิตวิญญาณความเป็นครูการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน การส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ฯลฯ
การประชุมสัมมนาในวันดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยของเครือข่ายสถาบันฝ่ายผลิตใน 5 ภูมิภาค เพื่อสะท้อนผลการดำเนินงานโครงกรตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 3 ด้าน โดยสรุปในภาพรวม ได้แก่ 1) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู ได้ครูที่มีสมรรถนะและความรับผิดชอบสูงตามที่คาดหวังทั้งการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศได้ดีมากช่วยจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นักเรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของครูและเรียนรู้อย่างมีความสุขและครูมีความเป็นผู้นำ ช่วยเหลือเพื่อนครูในโรงเรียน ออกแบบการศึกษา ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี 2) ด้านการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ได้ครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูของท้องถิ่นมีการรวมกลุ่มแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน และ 3) ด้านอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ได้ครูที่มีจิตอาสา ตอบโจทย์การช่วยเหลือชุมชน ส่งเสริมประเพณีและวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยเข้ามามีส่วนร่วมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สถาบันฝ่ายผลิตมีข้อเสนอแนะให้เน้นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนโดยใช้เวลามากขึ้น การพัฒนาขีดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ การยืดหยุ่นเกณฑ์ภาษาอังกฤษในบางสาขาวิชา เช่น นาฏศิลป์ พลศึกษา ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาจัดทำโครงการในจังหวัดบ้านเกิด อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อปลูกจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด ส่งเสริมการร่วมผลิตและพัฒนาครูในลักษณะเบญจภาคี ประกอบด้วย 1) สถาบันผลิตครู 2 เครือข่ายสถาบันผลิตครูในแต่ละภูมิภาค 3) ศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 4) สถานศึกษา และ 5) ชุมชน และเสนอให้มี Big Data ที่เป็นฐานข้อมูลกลาง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนิสิตนักศึกษาครูในโครงการสถานะของครูที่บรรจุในโครงการ ตลอดจนเชื่อมโยงโครงการผ่าน อว. และหน่วยงานผู้ใช้ครูในการติดตามครูในโครงการ เพื่อพิสูจน์ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนการยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ และถอดบทเรียนความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3729
Call Center โทร.1313
E-mail : pr@mhesi.go.th
Social Media
Facebook : @MHESIThailand
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป