การตรวจราชการแบบบูรณาการ รอบที่ 2
การดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐาน ข้าวอินทรีย์
ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ของผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นางแน่งน้อย เวทยพงษ์)
ระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดอุดรธานี และหนองบัวลำภู
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการแบบบูรณาการรอบที่ 2 โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าว หอมมะลิมาตรฐาน ข้าวอินทรีย์ ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย นายจิรวัฒน์ วัฒนบุตร ผู้อำนวยการสำนักกองบริการธุรกิจนวัตกรรม และนางสาวศิริวรรณ อ้นจันทร์ เจ้าหน้าที่ วว. ให้การต้อนรับในพื้นที่ และตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวเพื่อสุขภาพ ต.เสอเพลอ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในการนี้นายทรงศักดิ์ สุวรรณภักดี กำนันตำบลเสอเพลอ และนายสมัย นครไพร นายก อบต. เสอเพลอ ให้การต้อนรับ และรับฟังการดำเนินงานของกลุ่มฯ โดยนางนันทนันท์ นันตาบุตร เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวเพื่อสุขภาพ ซึ่งกลุ่มฯ มีความต้องการแปรรูปจากข้าวเป็นน้ำข้าวกล้อง และข้าวหมาก ซึ่งนายประธาน โพธิสวัสดิ์ นักวิจัยของ วว. เป็นที่ปรึกษา/หัวหน้าโครงการ จากการตรวจเยี่ยม พบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งคิดค้นสูตรเพื่อยืดอายุข้าวหมาก ในการนี้ ผตร.วท. ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่กลุ่มว่า ในการผลิตน้ำข้าวกล้องออกจำหน่าย กลุ่มฯ ควรหาตลาดรองรับด้วย เช่น โรงพยาบาล เนื่องจากนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้เกษตรจังหวัดนำกลุ่มวิสาหกิจไปเชื่อมโยงกับตลาดที่มีผู้บริโภครองรับทั้งในส่วนโรงพยาบาลและตลาดชุมชน และขอให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันพัฒนากลุ่มในทิศทางเดียวกัน
และในช่วงบ่ายได้ตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชน ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี โดยรับฟังการดำเนินงานของกลุ่มฯ โดยมีนายชัชวาลย์ ท้าวมะลิ เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชน ซึ่งกลุ่มฯ มีความต้องการแปรรูปข้าวเป็นเครื่องดื่มชนิดผงสำหรับ ชงพร้อมดื่ม (ข้าวฮางงอกชนิดผง) ซึ่ง ดร.ราเชนทร์ วิสุทธิแพทย์ นักวิจัยของ วว. เป็นที่ปรึกษา/หัวหน้าโครงการ ได้พัฒนาการแปรรูปข้าวเป็นเครื่องดื่มชนิดผงได้ ๓ รสชาติ ได้แก่ รสกาแฟ รสโกโก้ และธัญพืช ในการนี้ ผตร.วท. ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า วว. ควรคิดค้นสูตรโดยเพิ่มรสชาติอื่นๆ เช่น รสงา เป็นต้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายและตัวเลือกอื่นๆให้แก่ผู้บริโภค
ต่อมาวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561 คณะผู้ตรวจราชการฯ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ข้าวฮางงอก บ้านนาคำไฮ ต.นาคำไฮ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โดยรับฟังการดำเนินงานจากนางสุบรรณ ปัตวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอก ซึ่งกลุ่มฯ มีความต้องการพัฒนาสูตรการผลิตน้ำเต้าหู้ข้าวฮางหอมมะลิ และน้ำเต้าหู้ข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งนายประธาน โพธิสวัสดิ์ นักวิจัยของ วว. เป็นที่ปรึกษา/หัวหน้าโครงการ ได้พัฒนาการยืดอายุผลิตภัณฑ์โดยใช้วิธีพาสเจอร์ไรซ์ และพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ ในการนี้ ผตร.วท. ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรกำหนดคุณค่าโภชนาการ ประโยชน์ของสารกาบาร์ และปริมาณที่มีไว้ข้างขวดเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหาตลาดรองรับด้วย เช่น โรงพยาบาลประจำอำเภอ เป็นต้น
และในช่วงบ่ายได้ตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวหอมทองบ้านโคกสะอาด ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยรับฟังการดำเนินงานของกลุ่มฯ โดยมีนางกฤตยา วรจิตร เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวหอมทองบ้านโคกสะอาด ซึ่งกลุ่มฯ มีความต้องการแปรรูปข้าวฮางเป็นแป้งทำขนม (ทองม้วนข้าวฮาง) และพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง ดร. ราเชนทร์ วิสุทธิแพทย์ นักวิจัยของ วว. เป็นที่ปรึกษา/หัวหน้าโครงการ จากการตรวจเยี่ยมพบว่าในพื้นที่มีกล้วยหอมที่จำหน่ายไม่ได้ (ตกเกรด) จำนวนมาก จึงเสนอแนะให้ วว. พัฒนา หรือคิดค้นสูตรโดยนำกล้วยหอมมาเป็นส่วนผสมในการผลิตแป้งข้าวฮางด้วย (แป้งข้าวฮางกล้วย) หรือพัฒนาเป็นกล้วยไซรัปใช้แทนน้ำตาลในเครื่องดื่ม เป็นต้น ในการนี้กลุ่มผลิตข้าวฮางชุมชนโคกสะอาด ต.นิคมพัฒนา อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู โดยนายสมศักดิ์ จำปา ได้ร่วมให้ข้อมูลของกลุ่มฯ ด้วยว่า กลุ่มมีความต้องการผลิต ข้าวฮางสำเร็จรูปพร้อมชง ซึ่งนายสุทธิรักษ์ มีพลอย นักวิจัยของ วว. เป็นที่ปรึกษา/หัวหน้าโครงการ จากการตรวจเยี่ยม พบว่า กลุ่มใช้ชื่อฉลากยี่ห้อว่า “บัวบูชา” ซึ่งชื่อไม่สื่อกับเครืองดื่มแปรรูปจมูกข้าว อาจทำให้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค จึงเสนอแนะให้กลุ่มเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งในพื้นที่มีกล้วยหอม ที่จำหน่ายไม่ได้ (ตกเกรด) จำนวนมาก จึงเสนอแนะให้ วว. คิดค้นสูตร หรือปรับสูตรเครื่องดื่มจมูกข้าวโดยนำกล้วยหอมมาเป็นส่วนผสมด้วย
จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิมาตรฐาน ข้าวอินทรีย์ ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ จังหวัดอุดรธานี และหนองบัวลำภู ผตร.วท. ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ วว. ดังนี้
๑) ให้ วว. ทำฐานข้อมูลการผลิตและตลาดของวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ เพื่อใช้พิจารณาและติดตามการดำเนินงานโครงการ
๒) การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ วว. พิจารณาคัดเลือกกลุ่มที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง เช่น มีช่องทางตลาด มีโรงเรือน รวมทั้งมีการพัฒนาที่ได้มาตรฐานแล้วระดับหนึ่ง จึงจะทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรลุผลที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคและสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้บรรลุผล โดย วว. ควรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะบูรณาการระหว่างหน่วยงาน (กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มฯ อย่างต่อเนื่องด้วย
๓) เพื่อให้โครงการฯ มีความยั่งยืน และเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ควรมีการบูรณาการการทำงานระหว่าง วท. ได้แก่ สทอภ. ซึ่งดำเนินโครงการเกี่ยวกับฐานข้อมูลข้าว (Web Application และระบบ QR Code (Mobile Application)) และ สสนก. ดำเนินโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ร่วมดำเนินการกับ วว. ด้วย หรือการที่ วว. เข้าไปส่งเสริมและพัฒนากลุ่มที่ สทอภ. และ สสนก. ได้ดำเนินการไว้แล้วเพื่อให้การส่งเสริมครอบคลุมปัญหาบรรลุตามนโยบายรัฐมนตรี
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป