พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
ด้วยพระปรีชาความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิกรชองชาวไทยให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณทั่วทิศานุทิศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และชาวโลกจึงได้มีการจัดงานและกิจกรรมเทิดพระเกียรติในวันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปีเพื่อเป็นเกียรติและสิริอันสูงยิ่งแก่วงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความภาคภูมิใจอย่างสูงสุด ที่ได้มีโอกาสสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านต่างๆ ตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้น้อมนำแนวพระราชดำริที่เกี่ยวกับการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศมาเป็นหลักในการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงและเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาและรำลึกพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย พระวิริยะอุตสาหะ พระอัจฉริยภาพอันล้ำเลิศ พระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรม จนบังเกิดประโยชน์สุขต่ออาณาประชาราษฎร์มาอย่างต่อเนื่องถึง 60 ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ ด้วยการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2549 เห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เสนอให้ดำเนินโครงการการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" และกำหนดให้วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี เป็น "วันนวัตกรรมแห่งชาติ" เนื่องจากในวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีการปรับปรุงดินที่สภาพความเป็นกรดมาก โดยการใช้น้ำจืดจากอ่างเก็บน้ำชะล้างกรดออกจากดิน ทำให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นจนใช้ปลูกข้าวได้ ทำให้จังหวัดนราธิวาสสามารถปลูกข้าวได้เพียงพอกับการบริโภคและมีเหลือจำหน่าย ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปขยายผลในการปรับปรุงดินเปรี้ยวในพื้นที่เพาะปลูกอื่นๆได้ด้วย จึงเกิดเป็นโครงการแกล้งดินขึ้น
โครงการแกล้งดิน เป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปันหาดินเปรี้ยวอันเกิดมาจากป่าพรุในประเทศเขตร้อนให้สามารถกลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีที่ใดในโลกสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้สำเร็จและนำมาเป็นตำราเผยแพร่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเป็น “นักนวัตกรรม” อย่างแท้จริง
ข้อมูลจาก : หนังสือพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย