พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
พระบิดาแห่งการวิจัยไทย
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ เป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ทั้ง ๙ หนึ่งในนั้นคือ "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย"
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ จนกระทั่งพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ณ วันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลานับ ๗๐ ปี ที่พระองค์ทรงเป็นดั่งมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักและประพฤติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรทั่วหล้า อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของพระองค์คือทรงเป็นนักวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่พระราชทางแก่ราษฎร ล้วนผ่านการศึกษาวิเคราะห์วิจัย ทดลองจนปรากฎเป็นผลสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วถึงความตั้งมั่นในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรผ่านโครงการที่หลากหลายและครอบคลุม เช่น โครงการฝนหลวง โครงการเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการแกล้งดิน โครงการหญ้าแฝก โครงการผลิตพลังงานทดแทนไบโอดีเซล แกสโซฮอล์ และเชื้อเพลิงเขียว โครงการทดลองปลูกยางนาและข้าวในบริเวณสวนจิตรลดาเพื่อเพิ่มผลผลิต และโครงการก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๖ แห่ง ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เป็นต้น
ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการศึกษาวิจัยและพระราชวิสัยทัศน์ด้านการวิจัยและคิดค้นองค์ความรู้ใหม่ๆ การพัฒนาเหล่านี้ล้วนเอื้ออำนวยประโยชน์มหาศาลต่อประชาชน สภาวิจัยแห่งชาติด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงขอพระราชทานถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งการวิจัยไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
แม้วันนี้พระองค์จะเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่ผลงานของพระองค์และคณะทำงาน จะคงอยู่เป็นที่ประจักษ์ต่อไปในใจชาวไทยตราบนานเท่านาน
โครงการฝนหลวง
ฝนเทียมหรือฝนหลวงเป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ใช้เครื่องบินบรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของเมฆและสภาพทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝนคือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง หากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วย "สูตรร้อน" ใช้เพื่อกระตุ้นเร่งเร้ากลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศ, "สูตรเย็น" ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อใช้กระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา
กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่เป็นกังหันน้ำแบบทุ่นลอยซึ่งใช้ในการบำบัดน้ำเสีย โดยสามารถนำไปใช้บำบัดน้ำเสียทั้งจากแหล่งชุมชน อุตสาหกรรมและการเกษตรอันเนื่องมาจากสภาพเน่าเสียของแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริว่าจำเป็นต้องบำบัดน้ำเสียด้วยเครื่องกลเติมอากาศ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบฯ ศึกษาและวิจัยร่วมกับกรมชลประทานผลิตเครื่องต้นแบบขึ้นในปี ๒๕๓๒ และในปี ๒๕๓๖ กังหันน้ำชัยพัฒนาก็ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย กังหันบำบัดน้ำเสีย "สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย" เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำแก่ปวงชน
โครงการแกล้งดิน
เป็นพระราชดำริที่ให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิด ประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด เนื่องจากพบว่าดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัดในเขตจังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ " แกล้งดิน " เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ " แกล้งดินให้เปรี้ยว " คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น " แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด " จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถันโดยการควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลน
โครงการหญ้าแฝก
เป็นโครงการในพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเป็นครั้งแรกให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำการศึกษา ทดลอง และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและเพื่อประโยชน์อื่น ๆ หน่วยงานทั้งหลายจึงได้รับสนองพระราชดำริตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นผู้ประสานงาน
โครงการผลิตพลังงานทดแทน ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเชื้อเพลิงเขียว
เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระวิสัยทัศน์ด้านพลังงานทดแทนที่ทรงเริ่มต้นศึกษาวิจัยขึ้นเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันประชาชนชาวไทยได้มีทางเลือกในการใช้พลังงานทดแทนที่คนไทยสามารถผลิตได้เอง สามารถลดปริมาณการนำเข้าได้เป็นจำนวนมากได้แก่
๑. "ไบโอดีเซล" เป็นน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ รวมทั้งน้ำมันจากการปรุงอาหารมาทำปฏิกิริยาเคมีกับแอลกอฮอล์ (เอสเทอร์) มีคุณสมบัติที่สามารถย่อยสลายได้เอง ไม่เป็นพิษต่อระบบนิเวศ สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในท้องตลาดได้และมีราคาถูกกว่า
๒. "แก๊สโซฮอล" ในประเทศไทยเกิดขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยได้ทรงศึกษาการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ และนำแอลกอฮอล์มาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์
๓. "เชื้อเพลิงเขียว" เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากการนำวัสดุชีวมวลหรือเศษวัชพืชต่าง ๆ รวมทั้งเศษวัสดุที่เหลือจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ชานอ้อยเน่าเปื่อย , ผักตบชวา ฯลฯ มาอัดเป็นแท่งโดยอาศัยความเหนียวของยางในวัสดุเหล่านั้นเป็นตัวประสาน สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนฟืน , ถ่าน หรือแก๊สหุงต้มได้เป็นอย่างดี
โครงการปลูกยางนาและข้าวในบริเวณสวนจิตรลดาเพื่อเพิ่มผลผลิต
เป็นโครงการพระราชดำริอันเนื่องมาจากความสำคัญและประโยยชน์ของยางนาต่อประเทศไทย พระองค์จึงได้ทรงทดลองปลูกยางนาด้วยพระองค์เอง และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสถานที่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินโครงการวิจัยและทดลองปลูกยางนา โดยมี ศาสตราจารย์เทียม คมกฤส คณบดีคณะวนศาสตร์ ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะผู้สนองโครงการพระราชดำริ ซึ่งไม้ยางนาเป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่เคยมีความสำคัญทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไม้สัก ไม้ยางและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางมีประโยชน์แก่คนไทยมากมาย เช่น เป็นวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เครื่องเรือน เชื้อเพลิง ฯลฯ แต่ประโยชน์ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ ป่าไม้ยางนาเป็นป่าที่ให้ความร่มรื่น รักษาความชุ่มชื้น ร่มเงา และเพิ่มความสวยงามและความสมดุลแก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่แพ้ป่าไม้ชนิดอื่น
โครงการก่อตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๖ แห่ง
เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "ตัวอย่างของความสำเร็จ" เผยแพร่ความรู้การทำการเกษตรอย่างมีหลักวิชา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ไปสู่เกษตรกรด้วยวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติที่เป็นจริงได้ จึงพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนา" ขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าในด้านการพัฒนาแขนงต่าง ๆ เฉพาะภูมิภาคเฉพาะท้องถิ่น และเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุกด้านได้มาร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรสมบูรณ์แบบ ทั้งการแก้ไขปัญหาเดิมของดิน การพัฒนาให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การจัดระบบเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูสภาพป่าและการส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริม ศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจำนวนทั้งสิ้น ๖ ศูนย์ ได้แก่
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่างคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.จันทบุรี
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
• ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส