24 มิถุนายน 2563 : รศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบาย รมว.อว. และ ศ.ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานอนุกรรมการ ก.พ.อ. ด้านตำแหน่งวิชาการ
ร่วมแถลงข่าว ชี้แจง "การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ” ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุมรองศาสตราจารย์วันชัย ศิริชนะ อาคารอุดมศึกษา 2 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ถนนศรีอยุธยา
คำชี้แจง ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๖๓
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อการส่งเสริม สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยใช้งานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศตาม พ.ร.บ. การอุดมศึกษา ฉบับใหม่ (พ.ศ. ๒๕๖๒) ที่มีการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยตามความถนัด สอดคล้องกับนโยบายพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของมหาวิทยาลัยไทย
๒. เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น การยกเลิกการกำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ผลงานทางวิชาการ เป็นต้น
๓. เพื่อให้มีความทันสมัย รองรับการทำงานร่วมกันของคณาจารย์และนักวิจัยไทย รวมทั้งกับบุคลากรภาครัฐ และภาคเอกชนอื่นๆ การเกิดสาขา Multidisciplinary และ Interdisciplinary
๔. เพื่อให้เกณฑ์ การพิจารณา มีการกำหนดมาตรฐานการให้คะแนนที่ชัดเจนขึ้นในการก้าวสู่ตำแหน่งวิชาการแต่ละตำแหน่ง
๕. เพื่อแก้ไขเกณฑ์เดิมที่มีความไม่เหมาะสม
การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ตำแหน่งทางวิชาการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. การยกเลิกการกำหนดสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของผู้ขอว่าต้องมีส่วนร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ และยังยกเลิกการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้ประพันธ์อันดับแรก หรือ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ ดังนั้น เดิมผลงานทางวิชาการแต่ละผลงานจะสามารถนำมาใช้ในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งของผู้ขอได้เพียงคนเดียว แต่ในเกณฑ์ใหม่ผลงานทางวิชาการแต่ละผลงาน สามารถมีผู้ขอใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการขั้นต่ำได้มากกว่า ๓ คน ทั้งนี้ขึ้นกับบทบาทหน้าที่และการยืนยันว่าเป็นผู้วิจัยหลัก ทั้งหมดนี้เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมให้คณาจารย์มีการทำงานร่วมกัน และให้เกิดการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกันในการสร้างสรรค์ผลงาน
๒. การยกเลิกเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผลงาน โดยให้ใช้ลายเซ็นต์รับรองแค่ ๒ ท่าน คือ ผู้ประพันธ์อันดับแรก หรือ ผู้ประพันธ์บรรณกิจ
๓. ในเกณฑ์ใหม่นี้อนุญาตให้มีการใช้ผลงานเดิมก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าการขอ เป็นจำนวน ๑ ใน ๓ ของผลงานที่ใช้เสนอขอกำหนดตำแหน่ง ซึ่งในเกณฑ์เดิมไม่อนุญาตให้ใช้เลย
๔. ในเกณฑ์ใหม่นี้อนุญาตให้มีการใช้ผลงานที่ผู้ขอเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เช่น ผลงานทางวิชาการของนักศึกษา ผลงานทางวิชาการของนักศึกษาแพทย์ประจำบ้าน เป็นต้น
๕. ในเกณฑ์ใหม่นี้กำหนดเพิ่มเติมให้สามารถนำผลการพิจารณาเดิมที่เคยใช้เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการมาแล้วมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการครั้งใหม่ในสาขาวิชาที่ต่ำกว่าในสาขาวิชาเดียวกันได้
๖. ในเกณฑ์ใหม่นี้อนุญาตให้ผู้ขอสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีปกติได้ หากต้องการปรับเปลี่ยนสาขาวิชาเชี่ยวชาญที่เป็นสาขาวิชาในศาสตร์เดียวกัน ซึ่งในเกณฑ์เดิมต้องเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีพิเศษ เนื่องจากต้องการสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็น Multidisciplinary และ Interdisciplinary รวมถึงการเกิดสาขาวิชาใหม่ๆ
๗. ในเกณฑ์ใหม่มีการเพิ่มวิธีในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสำหรับผู้ขอที่ผ่าน
เกณฑ์การประเมินคุณภาพจาก International Peers สามารถขอกำหนดตำแหน่งได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ เพียงแต่ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในการพิจารณาเฉพาะจริยธรรมและจรรยาบรรณเท่านั้น ในการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวกระทำได้เฉพาะตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์บางสาขา ทั้งนี้เกณฑ์ที่กำหนดเป็นแค่ระดับค่าเฉลี่ยของ Life- time H-index และ Citation ของรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ๑๐๐ คนแรกในแต่ละสาขาที่ดำรงตำแหน่งในประเทศไทย มิใช่เกณฑ์ที่กำหนดจากค่าสูงสุด การใช้เกณฑ์ใหม่นี้เป็นการลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายของสถาบันอุดมศึกษาในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
๘. มีการปรับลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท จากเดิมระดับดี ดีมาก และดีเด่น เป็นระดับ B, B+, A และ A+ พร้อมทั้งกำหนดลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการให้สอดคล้องกันในแต่ละระดับ เนื่องจากเกณฑ์เดิมกำหนดคุณภาพของผลงานทางวิชาการระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ เป็นระดับเดียวกัน รวมทั้งมีปรับคำอธิบายของลักษณะคุณภาพของผลงานแต่ละประเภทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้คำนึงถึงคุณภาพระดับนานาชาติ
๙. สำหรับเกณฑ์ ก.พ.อ. พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ โดยวิธีที่ ๒ ต้องมีผลงานทางวิชาการคุณภาพดีเด่น (Outstanding) อย่างน้อย ๕ เรื่อง ซึ่งเป็นการยากมากที่จะมีผู้ผ่านการประเมินด้วยเกณฑ์นี้ ดังนั้นในเกณฑ์ใหม่จึงกำหนดให้ผลงานทางวิชาการ มีคุณภาพระดับ A+ ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่ากับระดับดีเด่น อย่างน้อย ๒ เรื่อง เท่านั้น
๑๐. เกณฑ์ ก.พ.อ.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ขอสามารถนำผลงานทางวิชาการรับใช้สังคมมาเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสำหรับนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มีความประสงค์จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตนมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคมหรือประเทศ และจากข้อมูลการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่มีการปรับเกณฑ์ ก.พ.อ. ตั้งแต่ฉบับที่ ๙ พบว่ามีผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการด้วยผลงานเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับ พ.ร.บ. การอุดมศึกษาฉบับใหม่ ที่มีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็น ๔ กลุ่ม และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยมีการจัดอันดับที่ดีขึ้น จึงมีการปรับเกณฑ์สำหรับคณาจารย์สายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ที่เป็นนักวิชาการที่เน้นการตีพิมพ์ ให้เหมาะสมกับความเป็นสังคมวิชาการนานาชาติ นอกจากนี้ผู้ขอสามารถนำผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นอีก ๑๐ ประเภท มาใช้ในการเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้
๑๑. เกณฑ์ใหม่ การกำหนดคุณภาพระดับ A+ ที่กำหนดให้ผลงานทางวิชาการ ต้องเป็นที่ยอมรับอย่างโดดเด่น (outstanding) รวมทั้งได้รับการอ้างอิงอย่างกว้างขวางในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ และตีพิมพ์ในวารสาร top 5% แรกของสาขาวิชานั้นๆ และการกำหนดคุณภาพระดับ A ตีพิมพ์ในวารสาร top 15% แรกของสาขาวิชานั้นๆ เป็นการกำหนดเพื่อให้ผู้ทรงคุณวุฒิสามารถประเมินผลงานทางวิชาการอยู่ในกรอบที่ใกล้เคียงกันโดยที่วารสารที่อยู่ใน top 5% นั้น ไม่ได้หมายถึงการพิจารณาเฉพาะวารสาร 5% หรือ 15% แรกในฐานข้อมูล Scopus เนื่องจากเกณฑ์ใหม่ไม่ได้ระบุเช่นนั้น แต่ให้ขึ้นกับดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้นๆ ในการวิเคราะห์ว่าวารสารนั้นอยู่ใน 5% หรือ 15% แรกของวารสารนานาชาติที่นักวิชาการไทยในสาขาวิชานั้นเคยตีพิมพ์
๑๒. มีการจัดทำคู่มือแนะนำในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลในระบบอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัย ได้แก่ ร่างประกาศ Adjunct Professorship ร่างประกาศการเทียบโอนตำแหน่งวิชาการเพื่อเป็นการส่งเสริมบุคลากรที่มิใช่คณาจารย์และนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการ หากมีความรู้ความสามารถ และได้ทำประโยชน์ให้กับสถาบันอุดมศึกษานั้นๆ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป