20 กรกฎาคม 2563 : ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผู้บริหาร อว. และคณะทำงาน ร่วมประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย การผลักดัน Regional BCG และนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างอาชีพของ อว. รวมถึงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) และมีการนำเสนอภาพรวมของงานวิจัย นวัตกรรมและการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีโดยผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงได้เยี่ยมชมนิทรรศการการจ้างงานประชาชนตามนโยบาย อว. ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ในเรื่องโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย และการผลักดัน Regional BCG และนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างอาชีพของ อว. รวมถึงโครงการ Re-inventing University และมีการการนำเสนอภาพรวมของงานวิจัย นวัตกรรมและการบริการวิชาการของ มรส. โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัย จากนั้นได้เยี่ยมชมนิทรรศการการจ้างงานประชาชนตามนโยบาย อว. (อว. จ้างงาน) งานประชุมดังกล่าวจัดขึ้นที่ สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
รองปลัด อว. บรรยายในที่ประชุมเรื่อง “บทบาทของ อว. กับการส่งเสริมมหาวิทยาลัยในเชิงพื้นที่” โดยกล่าวถึงภาพรวมของโครงการที่ อว. ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้ การวิจัย นวัตกรรมต่างๆลงสู่พื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ทั้งโครงการยุวชนสร้างชาติ ที่ประกอบไปด้วยโครงการย่อยได้แก่ ยุวชนอาสา/บัณฑิตอาสา/ยุวสตาร์ทอัพ โครงการอว.สร้างงาน ที่มีการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด 2019 ผ่านการจ้างงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าประความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ 39 มหาวิทยาลัย เกิดการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมในโครงการอว.สร้างงานระยะที่ 2 อีกกว่า 10,000 อัตราทั่วประเทศ จากนั้น รองปลัด อว. ได้นำเสนอภาพรวมของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอีก 1 โครงการสำคัญที่ อว. กำลังขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้ การวิจัยรวมถึงนวัตกรรมต่างๆลงสู่ชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยโครงการดังกล่าวคาดหวังให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ทั้งในกลุ่มของนักศึกษา บัณฑิตและประชาชน ได้ข้อมูลด้านต่างๆในรายตำบล เพิ่มทักษะที่จำเป็นในอนาคตให้กับบัณฑิต เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยร่วมกับชุมชนและภาคีต่างๆ
รองปลัด อว. กล่าวตอนหนึ่งว่า การลงพื้นที่ของ อว. ในครั้งนี้มีเป้าหมายหลักๆคือ การติดตามโครงการ อว.สร้างงานในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้ช่วยกระทรวงในการดำเนินการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบกว่า 200 อัตรา โดยมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการในการพัฒนาคนที่ได้รับการจ้างงาน ให้เป็นวิศวกรสังคมเพื่อลงไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในชุมชน เป้าหมายที่สองคือ เพื่อพบปะกับนักวิจัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในการทำความเข้าใจโครงการและนโยบายต่างๆของกระทรวง อาทิโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังจะเริ่มดำเนินโครงการผ่านเงินกู้สี่แสนล้านบาท ในการให้มหาวิทยาลัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูณราการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีก็ได้เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย
เราตั้งเป้าหมายของโครงการในระยะที่ 1 ไว้ที่ 3,000 ตำบล โดยจะใช้มหาวิทยาลัยกว่า 70 มหาวิทยาลัยของรัฐที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในการดำเนินการโครงการ โดยใน 1 ตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัยเป็นผู้เข้าไปดูแลในลักษณะ System Integrator หรือผู้ที่จะทำหน้าที่บูรณาการเชิงระบบในการเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในแต่ละตำบลจะมีการจ้างงานอย่างน้อย 20 อัตราทั้งบัณฑิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ในการดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีการทำความเข้าใจในนโยบายอื่นๆของอว. ทั้ง นโยบายเรื่อง BCG การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ว่าเรามีการดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหนและดำเนินการต่ออย่างไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไปสู่การพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง รองปลัด อว. กล่าวในตอนท้าย
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
วีดีโอ : วัชรพล วงษ์ไทย
ข้อมูลข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป