5 สิงหาคม 2564 : ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วยนางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนและการบริการชุมชนของวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินการของโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน เทศบาลเมืองไร่ขิง (Community Isolation) ซึ่งสามารถให้การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 150 เตียง ณ อาคารปฏิบัติธรรม เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชนี วัดไร่ขิง พระอารามหลวง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดยท่านนายกสภามหาวิทยาลัยและท่านอธิการบดีได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในลักษณะดังกล่าวในวิทยาเขตและวิทยาสงฆ์ทั่วประเทศ ของ มจฬ. จำนวน 17 แห่งและได้จัดตั้งโรงทาน เพื่อเป็นแหล่งเสบียงให้กับโรงพยาบาลสนามและบุคลากรทางการแพทย์ พระภิกษุ สามเณร และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส โควิด- 19 อีก 16 แห่ง
ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมการดำเนินงานของวิทยาลัยในวันนี้ นอกจากได้มีโอกาสมาให้กำลังใจบุคคลกรของวิทยาลัยที่ร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับคนในชุมชน เทศบาลเมืองไร่ขิง (Community Isolation) แล้วยังมีโอกาสได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และการบริการวิชาการส่วนต่างๆของวิทยาลัย ถือได้ว่าวิทยาลัยสงฆ์นี้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็งมาก ในหลายๆ โครงการวิทยาลัยสามารถทำเป็น Best Practice เพื่อเป็นตัวอย่างหรือแนวปฏิบัติที่ดี่ให้กับสถาบันหรือองค์กรอื่นๆได้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น เรื่องการออมของนิสิต นักศึกษา ถือว่าสามารถแก้ปัญหาการกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้อีกมุมหนึ่งเช่นเดียวกัน การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ขอชื่นชม อาจารย์สามารถออกแบบคอร์สในการสอนออนไลน์ได้ตรงประเด็น และสามารถอธิบายทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของการสอนแบบออนไซต์ (Onsite) และออนไลน์ (Online) ได้ แสดงให้เห็นว่าผู้สอนเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจในบริบทการเรียนการสอนเป็นอย่างดี
ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา วิทยาลัยมีความพยายามที่จะขับเคลื่อนตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อให้สะท้อนภาพการดำเนินงานที่มึคุณภาพของวิทยาลัย ประกอบกับขณะนี้กระทรวงฯ กำลังเร่งจัดทำแนวทาง วิธีการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนนั้นมีคุณภาพ เพื่อเป็นการยืนยันต่อสังคมว่า แม้จะมีการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สถาบันอุดมศึกษาสามารถส่งมอบบัณฑิตออกไปสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ มีหลายเรื่องที่ทางกระทรวงอยากทำ บางเรื่องอาจจะลดทอนเอกสารมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ตัวชี้วัดอาจจะแม่นยำขึ้น ทางกระทรวงก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำไปปฏิบัติต่อไป.
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : อินทิรา บัวลอย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง สป.อว.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 Call Center โทร.1313
Facebook : @MHESIThailand
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป