เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 - ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา พร้อมด้วย นางสาวนุชนภา รื่นอบเชย ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมรับฟังการบริหารจัดการปัญหาและข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ในด้านการจัดการเรียนการสอน การให้ความช่วยเหลือนักศึกษา การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนสังคม รวมทั้งโครงการที่ตอบสนองตามนโยบายต่างๆ ของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เช่น โครงการ U2T พร้อมทั้งเยี่ยมชมและให้กำลังใจบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนสนาม อาคาร สิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม โดยมี ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ
เลขาธิการ กกอ. กล่าวถึงการลงพื้นที่ภาคสนามในครั้งนี้ขอเป็นตัวแทนของกระทรวงอว. ที่มาให้กำลังใจ สนับสนุนและเยี่ยมชมการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมในช่วงสถานการณ์วิกฤตของโควิด-19 ทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอน การดูแลให้ความช่วยเหลือนักศึกษา การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน รวมทั้งการดำเนินการในโครงการ U2T ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบของการเรียนระบบ online 100 เปอร์เซนต์ รวมทั้งการปฎิบัติการการสอนของนักศึกษาครู ที่เป็นไปตามมาตรการของ ศบค. ในแต่ละจังหวัดที่มีนักศึกษาครูลงไปปฎิบัติการสอน มีการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาและจัดหาทุนการศึกษา สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอน online ให้กับนักศึกษา สนับสนุนให้นักศึกษามีงานพิเศษทำเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว โดยได้รับการสนับสนุนจากสภามหาวิทยาลัยและฝ่ายบริหารอย่างเข้มแข็งและทันต่อสถานการณ์ และมหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ความร่วมมือกับจังหวัดนครปฐมในการจัดเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนสนาม โดยมีนักศึกษาพยาบาลและนักศึกษาทั่วไปรวมทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัยกว่า 200 คนเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในการทำงานในศูนย์ฉีดวัคซีนดังกล่าว และเตรียมปรับสถานที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยสำหรับผู้ป่วย (Community Isolation) สำหรับดูแลรักษาเบื้องต้นระหว่างรอเตียง ซึ่งจะได้ดำเนินการในเร็วๆ นี้
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อไปว่า จากการรับฟังการดำเนินการโครงการ U2T ของมหาวิทยาลัยที่มีการบริหารจัดการที่ดีมาก อยากฝากให้มหาวิทยาลัยถอดบทเรียนในเรื่องดังกล่าวทั้งหลักการ วิธีคิด แนวทางการบริหารจัดการ การจัดทำข้อมูลพื้นฐานต่างๆ บริบทแกนกลาง เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดีให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศเพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นไปด้วยกันในทุกๆภูมิภาค มหาวิทยาลัยสามารถออกแบบให้มีการนำแนวปฏิบัติดังกล่าวไปบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาสามารถสร้างรายได้ในระหว่างการเรียน ปลูกฝังเรื่องการออมให้กับนักศึกษา เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงินและการใช้ชีวิตให้กับนักศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปประกอบอาชีพ และมหาวิทยาลัยจะสามารถสร้างความยั่งยืนในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสามารถสร้างหรือออกแบบหลักสูตรหรือรายวิชาที่จะสร้างผู้นำชุมชนเพื่อทำหน้าที่แทนนักวิชาการหรืออาจารย์ในการเข้าไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หากสามารถสร้างกลุ่มผู้นำชุมชนได้ในปริมาณมาก ก็จะแก้ช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างและลดความเลื่อมล้ำในชุมชนลงได้
นอกจากนี้จากฐานข้อมูลของการลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนและการดำเนินการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมตามโครงการ U2T ของมหาวิทยาลัย หากสามารถผลักดันไปสู่การสร้างตลาดออนไลน์เพื่อเป็นตลาดการค้าสำหรับชุมชนได้ ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขี้น และมหาวิทยาลัยจะมีความเข้มแข็งและเป็นสถาบันการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
ถ่ายภาพ : วัชรพล วงษ์ไทย
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง สป.อว.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 Call Center โทร.1313
Facebook : @MHESIThailand
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป