พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษา 7 แห่ง ส่งเสริมโครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมโครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน ณ ห้องกมลทิพย์ บอลรูม ห้อง 1 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล
การประชุมวิชาการ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน และ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) กับสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 7 แห่ง โดยมี นายสมบัติ รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (สป.อว.) เป็นผู้กล่าวรายงานการดำเนินงาน
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษายังคงประสบปัญหาการผลิตบัณฑิตได้ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดงาน เนื่องจากปัจจัยที่หลากหลาย อาทิ การพลิกโฉมของเทคโนโลยี การขาดแคลนประชากรในวัยทำงาน วิธีคิดและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น ตลอดจนปรากฏการณ์ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน และแนวโน้มความต้องการกำลังคนในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปมาก สป.อว. ตระหนักและพยายามที่จะเร่งรัดพัฒนาการอุดมศึกษาไทย อันเป็นกลไกหลักในการพัฒนาประเทศ ผ่านการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพ ที่เน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ โดย สป.อว. มีนโยบายอย่างชัดเจนในการผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการร่วมจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพที่ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน ซึ่ง CWIE มีความสอดคล้องกับการจัดการศึกษาในรูปแบบ EEC Model Type A ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กำลังดำเนินการกับสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC
การดำเนินงานโครงการปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในครั้งนี้ จึงเป็นการร่วมมือ รวมพลังของหน่วยงานภาครัฐ 2 หน่วยงาน สถาบันอุดมศึกษา 7 แห่ง และสถานประกอบการ 9 แห่ง ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพและสมรรถนะสูง สามารถปฏิบัติงานได้จริง และตอบสนองต่อความต้องการของสถานประกอบการ โดยเฉพาะสถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ที่ต้องการแรงงานคุณภาพจำนวนมากใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในปีหน้าจะเป็นการขยายผลของโครงการ โดยการส่งเสริมศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาและเพิ่มจำนวนหลักสูตร ตามแนวทาง Demand Driven Education เป็น 2 เท่า และเพิ่มจำนวนนักศึกษา อีกกว่า 100 คน ซึ่งจะตอบโจทย์ของประเทศ เกิด Win-win-win Benefit ร่วมกันทุกฝ่าย
การประชุมในวันนี้ จึงเป็นวาระสำคัญอีกวาระหนึ่งของการแสดงความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาฝ่ายผลิตและสถานประกอบการฝ่ายผู้ใช้บัณฑิตที่จะร่วมมือกันผนึกกำลังผลักดัน และช่วยกันส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบ Demand Driven Education ให้เจริญก้าวหน้า เข้มแข็งและยั่งยืน ผมจึงขอเชิญชวนให้สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
ที่มา : กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3729
Call Center โทร.1313
E-mail : pr@mhesi.go.th
Social Media
Facebook : @MHESIThailand
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป