(10 ตุลาคม 2565) ณ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปีจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. จับมือพันธมิตรองค์กรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในและต่างประเทศกว่า 40 หน่วยงาน เปิดงานประชุมและนิทรรศการ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show 2022) ภายใต้แนวคิด ผสานพลัง วทน. เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน (Synergizing STI to Sustainable Business) เพื่อเป็นกิจกรรมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022 Thailand) และเปิดงาน Thailand Tech Show 2022 เวทีแสดงผลงานทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมวิจัยที่พร้อมต่อยอดธุรกิจ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมโอกาสความร่วมมือด้านธุรกิจ วิชาการระหว่างสมาชิกเอเปคให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2565 ที่ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ปลัดกระทรวง อว. ประธานเปิดงานและปาฐกถาหัวข้อ "บทบาทกระทรวง อว.ในการผลักดันเศรษฐกิจ BCG วาระแห่งชาติของประเทศไทย" กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งกับการเปิดงาน "APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to BIZ" (Thailand Tech Show 2022) ครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงเป็นเวทีที่จะนำเสนอการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ คือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) Economy ที่กระทรวง อว. โดย สวทช. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC Thailand 2022 เท่านั้น แต่ยังส่งเสริมต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ ด้วยโจทย์ความท้าทายของโลกปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะได้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ระบบเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืนทุกภูมิภาคของประเทศ โดยนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการจัดการเทคโนโลยีและการค้า ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างรวดเร็วและยั่งยืน อย่างไรก็ตามทุกประเทศในกลุ่ม APEC มีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะบรรลุความยั่งยืน ดังนั้นประเทศไทยตั้งเป้าที่ใช้การประชุมนี้เพื่อแนะนำระบบเศรษฐกิจ BCG ที่มีการเชื่อมโยงกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในบริบทที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
ด้าน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นงานประชุมและแสดงนิทรรศการนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนาของ สวทช. รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วยภาคเอกชน หน่วยงานวิจัย และสถาบันการศึกษา โดยนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดง จะเป็นผลงานที่พร้อมส่งต่อให้กับผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่สนใจนำไปต่อยอดผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการแสดงความสามารถและศักยภาพของงานวิจัยไทย และเนื่องจากประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในปี 2565 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่ประเทศไทยได้แสดงวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง สวทช. ในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ BCG ถือเป็นภารกิจหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมโอกาสความร่วมมือทั้งด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางวิชาการ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show2022) ในครั้งนี้
สำหรับไฮไลท์สำคัญ 5 ส่วน ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย และการเสวนา การขับเคลื่อน BCG Economy Model สู่การปฏิบัติ ในเขตเศรษฐกิจ APEC ครอบคลุมวิทยากรจาก 8 เขตเศรษฐกิจ ในสาขา BCG ทั้งพลังงานและสิ่งแวดล้อม อาหารและเกษตร ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งการพัฒนาชุมชน การบรรยายหัวข้อ "10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง" เพื่อการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งผู้ประกอบการในปัจจุบันจะต้องรู้และปรับตัวให้เท่าทันกับเทรนด์โลกแห่งเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น การจัด Investment Pitching เวทีแห่งการนำเสนอนวัตกรรมเด่นที่มีความพร้อมถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ/นักลงทุนที่มองหาโอกาสและช่องทางในการทำธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้จะมีผลงานทั้งหมด 9 ผลงาน แบ่งเป็น สวทช. จำนวน 4 ผลงาน หน่วยงานพันธมิตรอีก 4 ผลงาน และผลงานจากประเทศเวียดนามอีก 1 ผลงาน รวมถึงการประกาศรางวัลผลงานที่ผู้เข้าร่วมงานโหวตให้เป็นผลงานที่น่าลงทุนที่สุด (The most interesting technology for investment) และผลงานที่นำเสนอได้ดีที่สุด (The best presentation) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับอีกไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ การจัดนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย 4 โซน ได้แก่ 1.โชน APEC Economy Pavillion 2.โซน IP Marketplace แหล่งรวมงานวิจัยในจุดเดียวโดยความร่วมมือจากพันธมิตรหน่วยงานวิจัยทั่วประเทศทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งจะมีผลงานวิจัยที่จะมานำเสนอมากกว่า 200 ผลงาน จาก 35 หน่วยงานจากทั่วประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่า วทน. ตอบโจทย์ BCG ช่วยเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้กับธุรกิจแบบครบวงจรอย่างยั่งยืน 3.โซน Showcase: BCG Model 3 โครงการ (ราชบุรีโมเดล, EECi, Circular Solar Module) และ 4.โซน ผลงานกลุ่ม BCG รวบรวมจากผลงานเด่น สวทช. / ผู้ประกอบการ BCG / NSTDA Startup / สินค้านวัตกรรม และไฮไลท์สุดท้ายกับ การเยี่ยมชม (Site Visit) โครงการที่ประสบผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ BCG Model จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ราชบุรีโมเดล ซึ่งเป็นพื้นที่การพัฒนาตามนโยบายด้านเกษตรและอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ 2.พื้นที่ EEC จ.ระยอง และ 3.พื้นที่ทดลองการทำแผงโซลาเซลล์ที่ปลดระวางกลับมาใช้ประโยชน์เพื่อชุมชนและการเกษตร (Circular Solar Module) จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเข้าร่วมงาน APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz (Thailand Tech Show2022) ได้ฟรีที่ www.nstda.or.th/apecbcg-tts2022 หรือสอบถาม โทร. 0-2564-7000
ที่มา : https://www.mhesi.go.th/
ผู้เผยแพร่ : กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
LINE@ : สอบถามข้อมูล คลิก >> IT-Support
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป