คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ เห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดทั้ง ๑๙ กลุ่มจังหวัด (ซึ่งได้ปรับเป็น ๑๘ กลุ่มจังหวัดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑) และมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ พิจารณาสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้ทุกจังหวัดจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ในการนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้มีการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยได้ดำเนินงานบูรณาการงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดบนพื้นฐานของการนำศักยภาพที่มีอยู่ของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดมาผนวกกับองค์ความรู้ด้าน วทน. ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต สินค้า และบริการที่ทันสมัย นอกจากนี้ วท. ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลผลิตที่เป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายให้ภาคเอกชน กลุ่มจังหวัดบูรณาการ และประชาชนนำเทคโนโลยีของ วท. ไปใช้ประโยชน์ ในการดำเนินงานดังกล่าวต้องมีการผลักดันให้หน่วยงานในสังกัด วท. มุ่งเน้นการทำแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมและประสานความร่วมมือกับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด เพื่อให้การบูรณาการงานด้าน วทน กับจังหวัดเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับการบูรณาการงานด้าน วทน กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ได้ดำเนินงานมาแล้ว ๒ ระยะโดยใช้กลไกการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การบูรณาการงานด้าน วทน กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ดังนี้
ระยะที่ ๑ (ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๕๐) เป็นการดำเนินงานเพื่อแสวงหาข้อเสนอแนะ/กรอบแนวทางและความต้องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี/องค์ความรู้ด้าน วทน. ของพื้นที่จังหวัดที่ต้องการให้ วท. สนับสนุน โดย วท. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ กับ ๑๘ กลุ่มจังหวัดแล้ว ระยะที่ ๒ (ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๑ - ๒๕๕๔) มุ่งเน้นหากลไกและวิธีการในการทำให้การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น โดยได้นำปัญหา/อุปสรรคจากการดำเนินงานในระยะที่ ๑ มาพิจารณาเพื่อแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินงาน และกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รูปแบบ (model) การดำเนินงานด้าน วทน. กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวทางการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด และยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เกิดแผนบูรณาการงานด้าน วทน. ระหว่าง วท. กับจังหวัดในการนำ วทน. ไปใช้พัฒนาจังหวัด เพื่อให้ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับการลงนามตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดด้วย ว. และ ท.” ระหว่าง วท. กับกระทรวงมหาดไทย (มท.) เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๒ ซึ่งในช่วงระยะที่ ๒ ดังกล่าว วท.ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ กับ ๑๘ กลุ่มจังหวัดครบถ้วนแล้ว
ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าผลที่ได้จากการดำเนินงานการบูรณาการงานด้าน วทน. กับจังหวัด ของ วท. ใน ๒ ระยะ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างเงิน และสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่จังหวัด เนื่องจาก วท. ได้ดำเนินการตอบสนองข้อเสนอ/ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มาจากระดับล่างขึ้นไปในระดับบน (bottom – up) อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน จะพบว่าการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับสินค้าและบริการจัดอยู่ในระดับสูง ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางด้าน วทน. มาช่วยสนับสนุนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕ วท. จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน วท. ที่มีต่อการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัด และพบว่าภารกิจส่วนหนึ่งของหน่วยงานในสังกัดมีบทบาทและหน้าที่ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัด และควรมีการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแบบครบวงจรในภาพรวมของกระทรวง นอกจากนี้ นโยบายของผู้บริหาร วท. ในปัจจุบัน ได้มุ่งเน้นที่จะให้ วท. ดำเนินงานอย่างมีความสอดคล้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพื่อสนับสนุนจังหวัด/กลุ่มจังหวัดแบบมีทิศทางชัดเจนและเกิดผลกระทบ (impact) ในทางบวกที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในระดับชาติ วท. โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ดำเนินการแปลงนโยบายและแผนด้าน วทน. ระดับชาติมาสู่แผนปฏิบัติการรายพื้นที่ ซึ่งหาก วท. ได้มีการดำเนินงานบูรณาการงานด้าน วทน. กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดที่เชื่อมโยง สอดรับกับนโยบายในระดับชาติดังกล่าว รวมทั้งได้มีการเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของจังหวัดในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด ก็จะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมในอนาคตต่อไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าว วท. จึงได้ดำเนินงานบูรณาการงานด้าน วทน. กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัดต่อไป โดยขยายการดำเนินงานออกไปในระยะที่ ๓ (ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๕- ๒๕๕๘) ในรูปแบบที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงการดำเนินงานในระดับชาติและในระดับพื้นที่จังหวัด/กลุ่มจังหวัดดังกล่าว
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นแหล่งรวมข้อมูล องค์ความรู้ และทรัพยากรบุคคลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศ มีบทบาทและหน้าที่หลักในการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการวิจับและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม....
เว็บไซต์การบูรณาการงานด้าน วทน. กับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และท้องถิ่น : http://integration.most.go.th
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป