พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
พ.ศ. 2562 มาตรา 25 กำหนดให้มีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “กมอ.”
มีองค์ประกอบซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน ไม่เกิน 9 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการและเลขานุการ (รองปลัด อว.) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน โดยมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 26 และพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 สรุปตามลักษณะของภารกิจ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562
ได้กำหนดขอบเขตหน้าที่และอำนาจ และการจัดระเบียบบริหารราชการของกระทรวงมีความชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการในระดับต่างๆ ของกระทรวงมีเอกภาพ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.1 ให้ข้อเสนอแนะและความเห็นชอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับการดำเนินการ
1.1.1 กำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาด้วย
1.1.2 รับรองและเพิกถอนการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และรับรองมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
1.1.3 วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาอย่างร้ายแรง
1.1.4 การกำหนดมาตรการทางการเงินการคลังและสิทธิประโยชน์อื่น เพื่อให้มีการพัฒนา มาตรฐานการอุดมศึกษา
1.2 ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรี
1.2.1 พิจารณาเสนอการจัดตั้ง ยุบ รวม ปรับปรุง และเลิกสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี
1.2.2 เสนอแนะและให้ความเห็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี
1.3 ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม ตวรจสอบการจัดการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงฯ และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยคำนึงถึงประเภทและกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา ตลอดจนความเป็นอิสระและความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง
2. พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เนื่องจากสถาบันอุดมศึกษามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างพื้นฐานของการพัฒนากำลังคนของประเทศและการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบกับปัจจุบันมีการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการจัดการด้านการอุดมศึกษาที่หลากหลาย ดังนั้น เพื่อให้การจัดการอุดมศึกษาและการพัฒนาบุคลากรของประเทศเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานทัดเทียมนานาอารยประเทศ สมควรส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษามีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นอิสระทางวิชาการ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีองค์ความรู้ทางวิชาการในแขนงต่าง ๆ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตลอดจนสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นเลิศในทางวิชาการและมีทักษะขั้นสูงในการประกอบวิชาชีพ สามารถตอบสนองความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง และส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาให้แก่สังคมส่วนรวมได้ อันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของ กมอ. ดังนี้
2.1 กำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา
2.1.1 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในเรื่องต่างๆ อาทิ การตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา การแต่งตั้งหรือมอบหมายผู้ตรวจสอบการดำเนินการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา การจัดการศึกษาโดยผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายใน การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา
2.1.2 ตรวจสอบหรือพิจารณาหลักสูตรการศึกษาที่สภาสถาบันอุดมศึกษาอนุมัติ และตรวจสอบการจัดการศึกษา
2.1.3 รับรองและไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตร และประกาศให้สาธารณชนทราบ
2.1.4 แจ้งผลการรับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตรการศึกษาต่อองค์กรกลางบริหารงานบุคคล และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบ
2.1.5 ทราบผลการประเมินคุณภาพภายในของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก
2.1.6 กำหนดหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ประเมินคุณภาพภายนอก
2.2 คุ้มครองผู้เรียน
2.2.1 กำหนดมาตรการเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินการเพื่อแก้ไขและเยียวยาผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบ กรณีมีการวินิจฉัยชี้ขาดหรือสั่งการให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงที่มีปัญหาในการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาอย่างร้ายแรง หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวม หรือมีการสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาระงับการดำเนินการตามหลักสูตรการศึกษาหากเห็นว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือมีการไม่รับรองมาตรฐานการอุดมศึกษาของหลักสูตรการศึกษา
ทั้งนี้ การใช้อำนาจของ กมอ. ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ ความหลากหลาย ประเภทและกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา รวมทั้งสถานภาพของแต่ละสาขาวิชาและแต่ละสถาบันอุดมศึกษาด้วย โดย กมอ. อาจขอให้สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานของรัฐหรือของเอกชน หรือบุคคล ส่งข้อมูล เอกสาร หลักฐาน สถิติ รายงานการเงิน หรือเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ เพื่อประกอบการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ