เรียบเรียงโดย.....บุญสรอย บุญเอื้อ
เกม คือเครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเล่น เพื่อความสนุกสนาน เป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ตู้เกมหยอดเหรียญ วิดีโอเกม เกมคอมพิวเตอร์ ทั้งแบบออนไลน์และไม่ออนไลน์ และปัจจุบันนี้ เกม ถือเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างหนึ่งที่อยู่ใกล้กับเด็กและเด็กวัยรุ่น มากกว่าสื่ออื่นๆ เป็นที่นิยม หาง่าย ให้ความสนุกสนาน สามารถเล่นบน สมาร์ทโฟน แท็บแล็ต และเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่...การเล่นเกมนั้น มีทั้งผลดีและผลเสีย ขึ้นอยู่กับประเภทของเกมและระยะเวลาที่เล่น
ผลดีและผลเสียของการเล่นเกม
ผลดี คือ ได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน คลายเครียด ได้ฝึกทักษะ สมาธิ การตัดสินใจ รวมทั้ง ฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อและการประสานกันระหว่างมือกับตา
ผลเสีย คือ หากเล่นอย่างหมกมุ่นก็จะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมาได้ เช่น ส่งผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ ผลการเรียนตกลง อดอาหารหรืออดนอนจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และอาจจะมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆตามมา เช่น พูดโกหก ขโมยเงิน หนีเรียน หนีออกจากบ้าน และจากการเล่นจนกลายเป็นการพนัน เป็นต้น
ผลเสียของการเล่นเกม มีผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การที่คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองให้เด็กถือแท็บแลต หรือ สมาร์ทโฟน เพื่อเล่นเกม เพราะทำให้เด็กอยู่นิ่งๆ ไม่ซุกซน มีความสนใจอยู่ที่หน้าจอ และหวังว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ นั้น เป็นการกระทำที่น่าห่วง เพราะเด็กจะกลายเป็นเด็กติดจอ และนำไปสู่ “ภาวะติดเกม” หรือ “โรคเกม” ได้
ภาวะติดเกม หรือ โรคเกม... คืออะไร
ภาวะติดเกม หรือ โรคเกม คือ การที่เด็กใช้ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน 4ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่เตือนหรือห้ามไม่ให้เล่นจะหงุดหงิด มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะจิตใจ จากที่เคยเป็นเด็กอารมณ์ดี ก็จะแสดงท่าทีโกรธ ฉุนเฉียว หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคุณพ่อคุณแม่
อาการติดเกม มีดังนี้
1.มีความเพลิดเพลินในการเล่น พึงพอใจเมื่อได้รับชัยชนะและต้องการชัยชนะเพิ่มขึ้นรวมทั้งเวลาในการเล่น
2.ขอเล่นเกมที่ยาก ซับซ้อน ใช้เครื่องที่มีความเร็วและแรงขึ้น
3.กล้ามเนื้อไม่มีการพัฒนาเพราะติดเกมจะไม่เล่นกีฬา ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง ส่งผลให้เป็นโรคอ้วน
4.เสียกิจวัตรประจำวัน กินนอนไม่เป็นเวลา ห่วงเล่นเกม ไม่ทำการบ้าน เล่นเกมจนดึกดื่น นอนไม่หลับ
กระสับกระส่าย อยากจะตื่นมาเล่นเกมตลอดเวลา
5.โกรธ เมื่อถูกจำกัดเวลาในการเล่นหรือห้ามเล่น หากให้ไปทำอย่างอื่น จะมีพฤติกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น
ทุบตีพ่อแม่ ขว้างข้าวของ ภาวะอารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลง มีพฤติกรรมก้าวร้าวกับพ่อแม่และคนรอบข้าง
สาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกม
เกม ปัจจุบันเกมคอมพิวเตอร์ มีเครือข่ายกว้างขวางและเข้าถึงได้ง่าย สามารถตอบสนองความต้องการ ทางจิตใจ มีความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ และระบายความก้าวร้าวได้ เกมมักจะมีความยากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความท้าทาย และมักจะได้รับรางวัลเป็นแรงเสริมด้านบวกทันทีเมื่อได้รับชัยชนะ เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำและไม่ค่อยได้รับความสำเร็จจากกิจกรรมอื่นๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็จะมีความสนุกสนานและพึงพอใจกับความสำเร็จในเกมจนไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเด็กที่ขาดการฝึกระเบียบวินัยที่เหมาะสม เกมคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่เกมออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นการสวมบทบาทสมมุติในเกมโดยผู้เล่นหลายๆ คน โดยไม่จำเป็น ต้องเปิดเผยตัวตนจริงๆ ของผู้เล่น จึงสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจและสังคม มีความรู้สึกได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน สามารถพูดคุยในเรื่องเกมได้
ครอบครัว เด็กไม่ได้รับการฝึกวินัยอย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากผู้ปกครองอาจจะขาดทักษะในการฝึกวินัย ไม่มีเวลา หรือไม่เห็นความสำคัญ และไม่สามารถติดตามพฤติกรรมของลูกได้อย่างเหมาะสม ไม่มีความผูกพันทางอารมณ์กับลูก และบางครอบครัวเด็กต้องแบกรับความเครียดจากความคาดหวังของพ่อแม่ การสื่อสารในครอบครัวมีปัญหา ขัดแย้งกันเสมอ เด็กจึงหาทางออกด้วยการเล่นเกมคอมพิวเตอร์
สังคม ปัจจุบันสังคมมีค่านิยมสนับสนุนให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์เพื่อดูเหมือนว่าเป็นเด็กฉลาด ทันสมัย โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลดี ผลเสียของเทคโนโลยี ไม่ได้เตรียมความพร้อมเด็กสำหรับการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
การป้องกันไม่ให้เด็กติดเกม
1. ผู้ปกครองควรมีความรู้เกี่ยวกับเกม เลือกเกมที่มีประโยชน์ต่อเด็ก ควรพูดคุยให้ความรู้และเหตุผลให้เด็กเข้าใจและยอมรับว่าเกมอะไรควรเล่น และไม่ควรเล่น
2.กำหนดกติกาการเล่นเกมตั้งแต่ต้น ให้เด็กเล่นเกมได้ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ต้องควบคุมได้ อยู่ในสายตาผู้ใหญ่ ควรกำหนดให้เล่นเกมหลังจากที่ทำงานในหน้าที่เสร็จแล้ว และต้องมีการปิดกั้นการเข้าถึงเกมที่มีอันตราย
3. ผู้ปกครอง จำเป็นต้องกำกับให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด เมื่อมีการละเมิด ให้กลับมาทบทวนว่า อุปสรรคใดที่ทำให้ไม่เป็นไปตามข้อตกลง และกำหนดมาตรการควบคุมเพิ่มเติม โดยลดการต่อรอง และไม่สนใจต่อปฏิกิริยาของเด็กที่อาจจะบ่น หรือ โวยวาย ควรฝึกให้เด็กมีความคุ้นเคยในการควบคุมตนเองตั้งแต่เล็กๆ
แนวทางแก้ไขเมื่อเด็กติดเกม
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว สมาชิกควรมีความเข้าใจพัฒนาการและความต้องการของเด็กในแต่ละวัย รับฟัง กระตุ้น ให้เด็กแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นผลกระทบของเกมต่อตนเอง สร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ ความรุนแรง ให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจแก่เด็ก ตั้งเป้าหมายร่วมกัน
การฝึกวินัย ผู้ปกครองควรมีอารมณ์ที่มั่นคง ในกรณีที่อนุญาตให้เด็กเล่นเกมแล้วไม่เป็นไปตามข้อตกลง ควรงดเล่นเกมในช่วงนั้น เล่นเฉพาะช่วงวันหยุด ปิดเทอม หรือหลังจากเสร็จงานตามหน้าที่ โดยสะสมแต้มแลกกับการเล่นเกม
การใช้ยา อาจจะมีความจำเป็นในการควบคุมพฤติกรรมในเด็กบางรายที่มีปัญหาอื่นร่วมอยู่ก่อน เช่น สมาธิสั้น จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาโรคทางจิตเวช
ข้อคิด เกม ทำให้เรามีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน แต่เราสามารถควบคุมการเล่นได้ด้วย “วินัยของตนเอง”
ขอขอบคุณ ข้อมูลอ้างอิง : cmu.ac.th , blogging.com , google.com
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
Comments powered by CComment