พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักว่าปัญหาของเกษตรกรเป็นปัญหาหลักของประเทศ และมีความสนพระราชหฤทัยที่จะนำความรู้ทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาการเกษตรของไทย ดังพระบรมราโชวาทว่า
“ การพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดความเจริญมั่นคงแก่คนส่วนรวมทั้งประเทศได้ แท้จริงนั้น จะต้องอาศัยหลักวิชาอันถูกต้องและต้องกระทำพร้อมกันไปทุก ๆ ด้านด้วยเพราะความเป็นไปทุกอย่างในบ้านเมือง มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงถึงกันหมด เพียงแต่จะทำงานด้านการเกษตร ซึ่งโดยหลักใหญ่ได้แก่การกสิกรรมและสัตวบาล อย่างน้อยที่สุดก็ยังต้องอาศัยวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สหกรณ์เข้าช่วยด้วย ทุกคนซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้วิชาการในการพัฒนาบ้านเมืองต่อไป ควรทราบให้ถ่องแท้ว่า ในการนั้นจำเป็นที่สุดที่จะต้องใช้วิชาการ ทำงานร่วมมือกันให้ประสานสอดคล้องทุกฝ่าย ”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๑๕ )
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบว่าปัญหาต่าง ๆ ของเกษตรกรนั้น นอกจากจะเกิดขึ้นจากการขาดปัจจัยการผลิตเนื่องมาจากความยากจนแล้ว เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาน้อย ขาดความรู้ที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ ซึ่งความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อเกษตรกรจะเห็นได้จากการที่ทรงได้ใช้พื้นที่ ส่วนหนึ่งในบริเวณตำหนักจิตลดารโหฐานเป็นที่ตั้งของโครงการส่วนพระองค์ เพื่อจำลองความเป็นอยู่และการประกอกอาชีพของเกษตรกรมาไว้ในบริเวณที่ประทับ และทรงทดลองวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ โดยให้ประโยชน์ตกกับประชาชนมากกว่าผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ ดังพระราชดำรัสว่า
"...การสร้างโรงนมในสวนจิตรลดาไม่ใช่สำหรับการค้า แต่สำหรับทดลองดูว่า การทำเช่นนี้จะได้ผลอย่างไร และเก็บข้อมูลเอาไว้ดังที่ได้ทำจนถึงบัดนี้ มิใช่ว่าจะทำโรงนมนี้ เพื่อที่จะให้พอความต้องการในตลาค ซึ่งไม่มีทางจะให้เพียงพอได้ เพราะว่า โรงนมในสวนจิตรลดานี้ มีความมุ่งหมายอย่างเดียวคือ ค้นคว้า ไม่ใช่การค้า..."
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการดำเนินงานสร้างโรงนมผงที่ตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ ที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๓)
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงเน้นการศึกษาทดลองและทดสอบ การแก้ไขปัญหาของเกษตรกรตามสภาพภูมิศาสตร์ โดยทรงจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรในแต่ละท้องที่ ซึ่งทั้งโครงการส่วนพระองค์สวนจิตลดา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างก็เป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการเกษตรที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา มีการทดลองค้นคว้าใหม่เกิดขึ้นไม่หยุดนิ่ง ทำให้เป็นแหล่งการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรทั่วประเทศใช้ในการปรับปรุงการประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนทั่วไปในการหัดคิดสร้างและทำงานต่างๆ ที่มุ่งประโยชน์สำหรับคนหมู่มาก โดยในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการเกษตรเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมองปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อย่างเชื่อมโยงครบวงจร ตั้งแต่ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ ดิน และสภาพอากาศ ปัจจัยด้านสังคม เช่น สิทธิการถือครองที่ดิน การรวมกลุ่ม และการตลาดไปจนถึงปัจจัยด้านความรู้ โดยเฉพาะในการผสมผสานความรู้พื้นบ้าน เข้ากับวิทยาการสมัยใหม่โดยผ่านการศึกษาวิจัยโดยคนไทยตามสภาพแวคล้อมของไทย ดังนั้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตรแต่ละโครงการ จึงไม่ได้เป็นเพียงตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่ทุกโครงการถือเป็นแบบอย่างให้ประชาชนรู้จักคิดแบบองค์รวม และคิคบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างแท้จริง
"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้น มีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรจะปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๊ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป"
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา ในวันเปิดการชุมนุมผู้นำกลุ่มชาวนาทั่วประเทศ ครั้งที่ ๓ วันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๐๔)
ข้อมูลจาก : หนังสือพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป