เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดงานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำข้อมูลอุดมศึกษาตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการเปิดเผยและการส่งข้อมูลการอุดมศึกษา พ.ศ.2566 ปีการศึกษา 2568” พร้อมทั้งมอบนโยบายด้านข้อมูลการอุดมศึกษา เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสถาบันอุดมศึกษาเกี่ยวกับกฎกระทรวงฯ รวมทั้งชี้แจงรายละเอียดและแนวทางดำเนินงานการจัดทำ/จัดส่งข้อมูลการอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2568 เพื่อให้ข้อมูลการอุดมศึกษามีความสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการพัฒนาระบบข้อมูล และสารสนเทศด้านการอุดมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ โดยมี นางสาวจันทนา วงศ์เยาว์ฟ้า ผู้อํานวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ อววน. ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้รับผิดชอบด้านข้อมูลอุดมศึกษา ตลอดจนคณาจารย์สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กทม.
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้แก่สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง ในการขับเคลื่อนระบบข้อมูล อุดมศึกษาให้มีความเข้มแข็ง ครบถ้วน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และนับเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งต่อการวางรากฐานระบบข้อมูลอุดมศึกษาของประเทศให้มีความเป็นเอกภาพ มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงกับการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ในระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงฯ จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการเปิดเผยและการส่งข้อมูลการอุดมศึกษา พ.ศ.2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 โดยมีสาระสำคัญที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาต้องจัดส่ง “ข้อมูลการอุดมศึกษา” ให้แก่กระทรวงเพื่อประโยชน์หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.) การนำไปใช้ในการวางแผนและพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ 2.) การส่งเสริมธรรมาภิบาลผ่านการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและมีส่วนร่วมได้ 3.) การจัดระบบฐานข้อมูลอุดมศึกษาให้เป็นแหล่งอ้างอิงระดับชาติ ที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลในระยะยาว กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ จึงมิได้เป็นเพียงข้อบังคับทางกฎหมาย แต่เป็น "เครื่องมือเชิงนโยบาย" ที่จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการข้อมูลให้กับสถาบันอุดมศึกษาในทุกมิติ ภายใต้หลักการของการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินงานในปีการศึกษา 2568 สามารถก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและมีเป้าหมายร่วมกัน ขอฝากประเด็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงฯ ต้องการให้ทุกคนร่วมกันผลักดัน ประการแรก คือ การมีข้อมูลด้านการอุดมศึกษาที่ถูกต้อง ครบถ้วน และพร้อมใช้ โดยคุณภาพของข้อมูลจะต้องมีความสอดคลองกับนิยามและมาตรฐานที่กำหนด ความเป็นปัจจุบัน และความพร้อมสำหรับนำไปใช้โดยไม่ต้องแก้ไขซ้ำ ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการประมวลผลระดับระบบ และการวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันต้องมีบทบาทโดยตรงในการรับรองข้อมูลเหล่านี้ เพื่อสะท้อนความรับผิดชอบร่วมกันและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของสถาบัน ต่อมา คือ การดำเนินงานตามกฎกระทรวงฯ ไม่ใช่เพื่อควบคุม แต่เพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ทั้งในระดับสถาบันและระดับประเทศ โดยมุ่งหวังให้ข้อมูลที่จัดส่งกลายเป็น “ทรัพยากรเชิงนโยบาย” ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบงบประมาณ การพัฒนาหลักสูตร การประเมินผล ผู้เรียน และการกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ได้อย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง สุดท้าย คือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากข้อมูลที่สถาบันอุดมศึกษาจัดส่งให้แก่กระทรวงฯ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับมาจะไม่เพียงถูกใช้ในระดับนโยบายเท่านั้น แต่จะถูกนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดทำเป็นรายงานสารสนเทศ (Information Dashboard หรือ BI Dashboard) เพื่อส่งคืนให้แก่สถาบันอุดมศึกษานำไปใช้ในการพัฒนาและบริหารจัดการภายในอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์แนวโน้มของนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา การปรับปรุงหลักสูตรและโครงสร้างการเรียนรู้ ตลอดจนการใช้ข้อมูลเปรียบเทียบกับสถาบันอื่นในลักษณะ Benchmarking เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อว. ได้จัดให้มีช่องทางการจัดส่งข้อมูลผานระบบ UniCon ทั้งในรูปแบบการเชื่อมต่อแบบ System to System (S2S) และการอัปโหลดไฟล์ (Excel, CSV) ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกในระยะเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาว ที่ อว. ตั้งไว้ร่วมกับทุกสถาบัน คือการยกระดับการจัดส่งข้อมูลให้เป็นแบบ System to System อย่างครบถ้วน ซึ่งจะช่วยลดภาระซ้ำซ้อนเสริมความถูกต้อง และเชื่อมโยงข้อมูลภายในสถาบันเข้ากับระบบกลางได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งนี้ อว. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นคำปรึกษาเชิงเทคนิค แหล่งเรียนรู้ ระบบต้นแบบ หรือกลไกสนับสนุนร่วมอื่น ๆ เพื่อให้ทุกแห่งสามารถพัฒนาระบบของตนเองได้อย่างเหมาะสมกับบริบทต่อไป
“ความร่วมมือของทุกท่านในวันนี้ คือจุดเริ่มต้นของการยกระดับการจัดทำข้อมูลอุดมศึกษาของประเทศให้มีมาตรฐาน เป็นระบบ และมีคุณภาพทัดเทียมระดับสากล ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนระบบอุดมศึกษาไทยสู่ความเป็นเลิศ พร้อมผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ตอบสนองต่อ ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และตลาดแรงงานของประเทศอย่างแท้จริง” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป